สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวต่างประเทศในภูเก็ต และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของ ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต

กรุงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนนครศรีธรรมราช และหัวเมืองต่างๆทางคาบสมุทรมลายูเพียง 98 ปีก็สูญเสียเอราชให้แก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพ.ศ. 1921ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยา ภูเก็จได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในสมัยอยุธยาชื่อภูเก็ต ยังมิได้ปรากฏขึ้นในทางราชการไทยมีแต่เพียงชื่อ เกาะถลาง เมืองถลางเท่านั้น แต่เอกสารหลักฐานบางฉบับเรียกว่า เกาะภูเก็ต เมืองภูเก็ต เกาะแห่งนี้ชาวต่างประเทศรู้จักกันในชื่อ จังซีลอน หรือ อุยังซาลอน ชาวต่างประเทศได้เดินทางเข้ามาในภูเก็ตมากในสมัยนี้ ส่วนมากจะเป็นการค้าขายสินค้าต่างๆแลกกับแร่ดับุกและของป่านานาประเภท รวมทั้งทรัพยากรทางทะเลเช่น อำพันทอง ไข่มุก เป็นต้น ชาวต่างประเทศพวกนั้นได้แก่

ชาวต่างชาติ

ชาวจีน ชาวจีนได้เข้ามายังเกาะถลางเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเข้ามาในยุคอาณาจักรตามพรลิงก์ ดินแดนคาบสมุทรมลายูเป็นศูนย์กลางของการติดต่อค้าชายระหว่างจีนและอินเดีย คนจีนอาจจะรู้จักถลางในสมัยนั้น และยังคงเดินทางแสวงโชคในการค้าขายกับชาวพื้นเมืองจนตกลงใจตั้งรกรากอยู่ที่เมืองนี้ เป็นชนวนให้ญาติมิตรทางจีนค่อยๆเดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังที่ เจรินีได้เขียนไว้ว่า เมื่อเมืองถลางสิ้นสุดเจ้าเมืองฝรั่งชาวยุโรปลงแล้ว ชาวจีนก็ได้เป็นเจ้าเมืองแทนในช่วง 30 ปี หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตแล้วในพ.ศ. 2231 คือประมาณพ.ศ. 2261 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่าคนจีนได้ร่วมทำการค้าแร่ดีบุกกับท้าวเทพกระษัตรีมีถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ ก็ระบุถีงชาวจีนที่คุมแร่ดีบุกจากถลางไปยังปีนัง

ชาวโปรตุเกส ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2054 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2ดังมีจดหมายเหตุของฝรั่งเศสที่ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2229 ที่ว่า"...แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีนักพรตของศาสนามาอยู่ในเมืองนี้เลย เว้นแต่มิชชั่นนารี ชาวโปรตุเกสซึ่งได้เล่าเรียนในโรงเรียนของเราที่กรุงศรีอยุธยาคนเดียวเท่านั้น มิชชั่นนารีคนนี้ได้มาอยู่เมืองภูเก็ตได้ 3 ปีแล้วและได้กลับไปเย 15 ปีมาแล้ว..." แสดงว่ามีชาวโปรตุเกสในภูเก็ตเพียงคนเดียว แต่เชื้อสายของชาวโปรตุเกสยังคงมีอยู่ในเมืองถลาง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2แห่งกรุงศรีอยุธยาพ.ศ. 2054 จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ. 2452 ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นคนไทยในที่สุด

ชาวฮอลันดา ประมาณ พ.ศ. 2146 ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริษัท วี.โอ.ซี.ของชาวฮอลันดาได้เข้ามาสู่ประเทศไทย โดยมาตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีก่อนแล้วส่งทูตไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในพ.ศ. 2147 เป็นผลให้ได้เปิดสถานีการค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไทรบุรี และภูเก็ต (ถลาง) สินค้าที่ชาวฮอลันดาต้องการ ได้แก่ ไม้ฝาง หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง น้ำตาล รังนก ไม้กฤษณา และดีบุก

การซื้อแร่ดีบุกของชาวฮอลันดาในภูเก็ตครั้งนั้น เป็นไปอย่างขาดความเป็นธรรม จึงถูกชาวภูเก็ตและชาวมลายูทำการต่อต้านโดยเผาสถานีสินค้าและฆ่าฟันชาวฮอลันดาตายหมดสิ้น เป็นผลให้ชาวฮอลันดาต้องออกจากเกาะภูเก็ตไป

ชาวอังกฤษ ชาวอังกฤษได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2160 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏว่าได้มาทำการค้าที่เมืองถลางแต่ประการใด คงทำการค้าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากถูกกีดกันจากชาวญี่ปุ่นและชาวฮอลันดา ประกอบกับเจ้าหน้าที่ในบริษัทการค้าของอังกฤษที่กรุงศรีอยุทธยาทุจริตต่อบริษัทจนทำให้ขาดทุนอย่างมากจึงต้องล้มเลิกไปเมื่อพ.ศ. 2165

อังกฤษกลับเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ. 2227 แต่อังกฤษก็ไม่ได้เข้ามาซื้อขายแร่ดีบุกในเกาะถลาง เนื่องจากเกาะถลางมีเจ้าเมืองเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ เรเน ชาร์บอนโน (Rene Charbonneau) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้เป็นเจ้าเมืองถลางตั้งแต่พ.ศ. 2224 การค้าแร่ดีบุกบนเกาะถลาง จึงอยู่ภายใต้ฝรั่งเศส อังกฤษได้รับอนุญาตให้ชื้อแร่ดีบุกที่เมืองไชยา ชุมพร และพัทลุง

อัศวินแห่งโชมงต์ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสารจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์

อังกฤษกลับมามีบทบาทสำคัญในเมืองถลางอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกัปตันฟรานซิส ไลต์ได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขึ้นที่บ้านท่าเรือในสมัยกรุงธนบุรีคือเมื่อพ.ศ. 2315 ในช่วงที่เมืองถลางรู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้ว

ชาวฝรั่งเศสชาวฝรั่งเศสเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. 2216 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสชื่อ เรเน ชาร์บอนโน (Rene Charbonneau) มาเป็นเจ้าเมืองถลางระหว่างพ.ศ. 2224 - พ.ศ. 2228 และแต่งตั้ง มองซิเออร์ บิลลี่ (Sieur de Billi) เป็นเจ้าเมืองต่อจากชาร์บอนโนจนสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ครั้นสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ กรุงศรีอยุธยาได้เป็นปริปักษ์ต่อฝรั่งเศสอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้นายทหารฝรั่งเศสชื่อ นายพลเดฟาสจ์ (Desfarges) นำกำลังเรือรบจำนวน 4 ลำ มายึดเกาะถลางระหว่างพ.ศ. 2231 - พ.ศ. 2232 ปรากฏรายละเอียด อยู่ในเอกสารทั้งจดหมายเหตุฝ่ายฝรั่งและฝ่ายไทย

เหตุการณ์สำคัญในภูเก็ต สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เจ้าเมืองถลางถูกประหารชีวิต

เกิดขึ้นในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีเจ้าเมืองถลางคนหนึ่งชื่อ พระยาสุรินทราชา (จอมสุริน) เจ้าเมืองผู้นี้ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านลี้พอนคือ บ้านลิพอนในปัจจุบัน พงศาวดารเมืองถลาง ในประชุมพงศาวดารหอสมุดแห่งชาติได้กล่าวถึงคำให้การของชาวถลางเมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ให้ความย้อนหลังขึ้นไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายคือเหตุการณ์ครั้งนั้นคงเกิดขึ้นประมาณพ.ศ. 2233 หรือ พ.ศ. 2234 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเพทราชาและทรงทำการปราบชาวฝรั่งเศสและผู้เอาใจฝรั่งเศสอย่างรุนแรง พงศาวดารเมืองกล่าวว่า"...ฝ่ายบ้านลี้พอนจอมสุรินคิดมิชอบ จะตั้งตัวเป็นใหญ่ มีตราออกมาให้จับจอมสุรินฆ่าเสีย เพราะเป็นโทษขบถต่อแผ่นดินสิ้นเชื้อผู้ดีเมืองถลางว่าง พระยาถลางคางเซ้ง ชาวกรุงออกมาเป็นเจ้าเมือง..."

เจรินี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ"เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง" (Historical Retrospect of Junkceylon Island) ว่า หลังจากฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งจากกรุงศรีอยุธยา 2 คน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในระยะต่อมาก็ได้ชาวจีนได้รับการแต่งตั้งมาเป็นเจ้าเมืองถลาง เป็นข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น พระยาถลางคางเซ้งในคำให้การของชาวถลางในพงศาวดารถลาง ราชทินนามน่าจะเป็นพระยาสุรินทราชาตามยศและตำแหน่งเดิม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกระบุชื่อเพื่อมิให้สับสน

ชาวถลางปล้นเรืออังกฤษ

เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศซึ่งราชการบ้านเมืองในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง เนื่องจากการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระเจ้าเอกทัศกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และมีการสงครามระหว่างพม่าเข้ามาติดพันอีกด้วย ความระส่ำระสายในแผ่นดินจึงเกิดไปทั่ว ตามจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ บรีโกต์เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2305 ความตอนหนึ่งว่า

"...ตั้งแต่ครั้งสมัยก่อนๆมาพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับกฎหมายในเมืองนี้ ครั้งมาบัดนี้เจ้านายผู้หญิงทุกองค์ก็มีอำนาขเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เสมอ แต่ก่อนๆมาผู้ที่มีความผิดฐานขบถฆ่าคนตายและเอาไฟเพาบ้านเรือนต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่มาบัดนี้ความโลภของเจ้านายผู้หญิงได้เปลี่ยนการลงโทษความผิดชนิดนี้เพียงแต่ริบทรัพย์และทรัพย์ที่ริบไว้ได้ต้องตกเป็นสมบัติของเจ้าหญิงเหล่านี้ทั้งสิ้น ฝ่ายข้าราชการเห็นความโลภของเจ้านายผู้หญิงเป็นตัวอย่าง ก้หาหนทางที่จะหาประโยชน์บ้าง ถ้าผู้ใดเป็นถ้อยความแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็คิดหาประโยชน์จากคู่ความให้ได้มากที่สุดที่จะเอาได้ การทำเช่นนี้ก็ปิดความหาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบไม่ แต่ถ้าห่างพระเนตรพระกรรณออกไปแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็ลักขโมยอย่างไม่กลัวทีเดียว เมื่อปีกลายนี้ข้าราชการที่เมืองภูเก็ตได้ปล้นเรืออังกฤษลำหนึ่งซึ่งได้หนีจากเมืองเบงกอลมาพักที่ภูเก็ตเพื่อหนีท่านเค้าน์ เดซแตง เมื่อปีนี้พวกข้าราชการเมืองภูเก็ตได้แนะนำให้เรืออังกฤษลำหนึ่ง เข้าไปซ่อมแซมเรือที่ฝั่งเมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ใกล้เมืองโตยอง (Teyon) ซึ่งเป็นเมืองที่เข้ารีตมากที่สุดในแถบเกาะภูเก็ตนี้ ครั้นเรืออังกฤษได้ไปทอดที่เมืองแตร์แฟม พวกไทยและมลายูกับข้าราชการได้รู้กัน จึงได้ฟันแทงพวกอังกฤษและขึ้นปล้นเรือเก็บสินค้าในเรือไปจนหมดสิ้น ฝ่ายข้าราชการเมืองภูเก็ตได้ใส่ร้ายผู้เข้ารีตในเมืองโตยองเป็นคนปล้นและทำร้ายเรืออังกฤษ ลงท้ายสุดพวกเข้ารีตเหล่านี้พลอยฉิบหายไปเปล่าๆ ยังมีบาทหลวงคณะฟรังซิซแกลเป็นชาติโปรตุเกสคนหนึ่งได้ตายด้วยความตรอมใจและถูกทรมาน เพราะเจ้าพนักงานเมืองภูเก็ตได้จับบาทหลวงคนนี้ขังไว้ในระหว่างพิจารณาความเกือบเดือนหนึ่ง"

เมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ในจดหมายฉบับนี้ เป็นภาษาฝรั่งเศสและแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า dry land, mainland, solid ground ซึ่งสัณนิฐานว่า น่าจะเป็นบ้านดอน หรือไม่ก็เป็นตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน เพราะมีคลองสายใหญ่และลึกพอที่จะให้เรือเทียบท่าได้ เมืองภูเก็ตในฉบับนี้คือเมืองถลางทั้งหมด ส่วนเมืองโตยอง (Teyon) สันนิษฐานว่าคือ"บ้านตลาดนั่งยอง" ตำบลฉลองในปัจจุบัน ซึ่งสมัยก่อนมีคลองใหญ่และลึกเช่นเดียวกับบ้านท่าแครง

ตระกูลของท้าวเทพกระษัตรี (ปลายอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา)

ท้าวเทพกระษัตรีเป็นบุตรีของจอมร้างบ้านเคียน เจ้าเมืองถลางในสมัยนั้น ซึ่งมีการเกี่ยวดองทางเครือญาติกับพระปลัด (หนู) เมืองนครศรีธรรมราช พงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า เจ้าเมืองถลางจอมร้าง มีพี่ช่ยร่วมบิดาต่างมารดาอยู่คนหนึ่งชื่อ จอมเฒ่าบ้านดอน เป็นเจ้าเมืองถลางบ้านดอน สองพี่น้องมีความรักใคร่กลมเกลียวมาก จอมเฒ่ายังมีชื่อที่ชาวถลางเรียกขานไว้คือ จอมทองคำ จอม่ทองคำน่าจะเป็นชื่อจริงบเพราะมีบุตรชายชื่อ ทองพูน ได้เป็นพระยาถลางหลังจากเมืองถลางชนะศึกพม่า ปีพ.ศ. 2328 แล้ว

โดยประเพณีไทยโบราณนั้น เมื่อผู้ชายเข้าพิธีสมรส ก็จะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง หม่อมศรีภักดีภูธรบุตรจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่งเมื่อเข้าพิธีสมรสกับคุณจัน (นามเดิมของท้าวเทพกระษัตรี) บุตรีจอมร้างบ้านตะเคียนเมืองถลาง จึงต้องมาอยู่บ้านของฝ่ายภรรยา ซึ่งเป็นการเหมาะสมเนื่องจากจะได้ช่วยราชการเมืองของจอมร้าง ในขณะที่สูงอายุ แต่มีเพียงบุตรีคนโตคือคุณจันเท่านั้นที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปกครองบ้านเมืองเพราะบุตรชายคือ คุณอาดและคุณเรืองยังอยู่ในวัยเด็กมาก ไม่อาจช่วยงานราชการได้ แต่หม่อมศรีภักดีภูธรบุญน้อย พอมีบุตรกับคุณจันได้ 2 คนคือ คุณปรางบุตรีและคุณเทียน หม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรม คุณจันจึงตกเป็นพุ่มหม้าย

ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยากำลังระส่ำระสายด้วยการผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นพระเจ้าอุทุมพร แล้วเปลี่ยนเป็นพระเจ้าเอกทัศและกลับเปลี่ยนเป็นพระเจ้าอุทุมพรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการสู้ศึกกับพม่า ซึ่งยกทัพเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยายืดเยื้อติดต่อกันนับตั้งแต่พ.ศ. 2301 จนถึงพ.ศ. 2310 อันเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลาย

ปัญหาในเมืองถลาง

พระยาพิมลขัน เจ้าเมืองกระบุรี ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เพียงเป็นพระกระในครั้งนั้น หนีศึกพม่าลงมาเข้ากับเจ้านครศรีธรรมราชคนใหม่ เจ้านครฯจึงส่งให้มาช่วยราชการเมืองถลางแทนหม่อมศรีภักดีที่ถึงแก่อนิจกรรมลง โดยตอนนั้นคุณหญิงจันตกเป็นพุ่มหม้าย พระกระได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระยาพิมลอัยา (ขัน) และได้สมรสกับคุณหญิงจันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2314)

เมื่อสิ้นบุญจอมร้างบ้านเคียน ก็เกิดปัญหาเรื่องมรดกในเมืองถลาง ว่าผู้ใดควรจะได้สืบทายาทความเป็นเจ้าเมืองต่อไป พระยาพิมลขันว่าที่สามีคุณหญิงจันซึ่งได้ช่วยราชการมานานพอควรและสูงด้วยวัยวุฒิ สมควรแก่เจ้าเมืองถลางในครั้งนั้น แต่เนื่องจากไม่ใช่ทายาทสายตรงของจอมร้าง ซึ่งมีบุตรชาย 2 คน และมีหลานชายคือ คุณเทียน ผู้มีสายสกุลของหม่อมศรีภักดี สายสกุลเมืองนคร คุณหญิงจันไม่ยอมให้มรดกเมืองถลางตกอยู่กับพระยาพิมลว่าที่สามีใหม่ เพราะเกรงข้อครหาที่ว่าหลงใหลว่าที่สามียิ่งกว่าน้องชายร่วมสายโลหิตเดียวกันคือ คุณอาด และคุณเรือง เป็นเหตุให้พระยาพิมลขันเกิดความน้อยใจจึงแยกตัวจากถลางไปยังนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และได้ย้ายไปยังเมืองพัทลุง

คุณอาด บุตรจอมร้าง ผู้เป็นน้องชายของคุญหญิงจันก็ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมือง ชาวบ้านเรียกว่า"พระยาถลาง (อาด)" ส่วนน้องชายที่ชื่อเรือง ก็ได้เป็นพระพลจางวานด่าน (เรือง)ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองถลาง แต่ว่าราชการไม่นานถูกโจรยิงเสียชีวิต โจรสลัดแขกชาวไทรบุรีได้บุกเข้ายึดเมืองถลางไว้ระยะหนึ่งแต่ชาวถลางเชื้อสายไทยไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจแขกไทรบุรี จึงทำการส้องสุมกำลังไว้ที่บ้านสาคูและบ้านไม้ขาว และยึดเมืองคินมาได้สำเร็จภายในคืนเดียว ซึ่งเป็นคืนวันสารทของชาวถลาง มีการชุมนุม แห่กระจาดพืชพันธุ์ผลไม้ และอาหารแห้งไปทำบุญ โดยซ่อนอาวุธในกระจาดและภาพสัตว์ต่างๆ รวมกำลังกันจู่โจมที่พักเจ้าเมืองชาวไทรบุรี ฝ่ายแขกตั้งตัวไม่ทันจึงเร่งรีบลงเรือหนีไป การขับไล่แขกมลายูครั้งนี้ พระยายกบัตร (ชู) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในครั้งนี้ จึงได้รับแต่งตั้งจากเจ้านครศรีธรรมราชที่แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ชื่อว่า"พระยาถลาง (ชู)"

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติการบินไทย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี